นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานกรรมการ บจก. อินโนบิก (เอเชีย) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท เปิดเผยใน CEO Talk พลิกวิกฤติ “การดำเนินธุรกิจใหม่อย่างยั่งยืนของ PTT Group ตามกลยุทธ์ New S-curve: Life Science” ว่า การวางกลยุทธ์ของกลุ่มปตท. ได้ให้ความสำคัญทั้ง Supply Chain และ Value Chain โดยการทำกลยุทธ์บริหารธุรกิจเชิงกลุ่ม จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
ได้แก่ 1. ธุรกิจที่พัฒนามาแล้วระดับหนึ่ง หรือธุรกิจดั่งเดิม เช่น โรงกลั่น จะดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพที่ดี จะต้องเกิดการ optimization ทั้ง Value Chain เช่น เรื่องของการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเป็น Cargo เป็นต้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการ Synergy ระหว่างกลุ่ม
2.ธุรกิจปัจจุบัน ทำอย่างไรจะเพิ่มมูลค่าให้โปรดักส์ ที่เรียกว่า The now และที่สำคัญที่สุดในพอร์ตโฟลิโอก็จะต้องมี The new ซึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่มปตท. ได้มีการทำในเรื่องของ Strategic Thinking Session : STS ภายในกลุ่ม เพื่อพยายามค้นหา The new ในสายของ Downstream พบว่าถ้าเป็นปิโตรเคมีก็จะนำไปสู่เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) เนื่องจากมองว่าในอนาคตอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ว่าจะเป็น รถ EV, การบิน จะต้องใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา คุณภาพดี ทนการกัดกร่อน, ธุรกิจสถานีบริการ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็จะเน้นไปในเรื่องของ mobility and lifestyle
3.ธุรกิจใหม่ PTT ก็ได้มีการศึกษาในเรื่องของ 12 New S-curve ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยพบว่า ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น จะต้องเกี่ยวกับไฟฟ้า พลังงานทดแทน และ EV แบตเตอรี่, ปิโตรเคมีขั้นปลาย จะเกี่ยวกับ Life Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สุขภาพ เช่น ยา อาหาร ฟิวเจอร์ฟู้ด อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งบางส่วนให้จากปิโตรเคมี
รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง บจก. อินโนบิก (เอเชีย) ขึ้นมา ซึ่งก็เข้ามาตอบโจทย์ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของไบโอเทคโนโลยี, อาหารเพื่อสุขภาพ หรือเรื่องที่นำไปสู่คุณภาพชีวิต เนื่องด้วยปัจจุบันไทยก็ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
ทั้งนี้รูปแบบของการดำเนินธุรกิจใหม่ อินโนบิก จะเป็นลักษณะที่เป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดูในเรื่องของยา ธุรกิจที่จะไปร่วมทุน และการสร้างโรงงานเป็นของตัวเองหรือการร่วมลงทุน (JV) รวมถึงการมีนวัตกรรมเป็นของตัวเองด้วย
“การที่ประเทศไทยจะเติบโตได้ หรือก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด จากขายของปริมาณมากๆ ในราคาถูก เป็นขายของที่มีคุณค่า คุณภาพ ในภาวะที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งปตท. ก็ต้องหานวัตกรรม และเป็นนวัตกรรมที่ไทยเราได้เปรียบ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ตอบว่าทำไม ปตท. ถึงต้องหา New S-curve” นายบุรณิน กล่าว