Policy Fest พัฒนาสตาร์ทอัพไทย ธุรกิจและแรงงานไทยให้ทันโลก

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางพรรคก้าวไกลจัดงาน Policy Fest ครั้งที่ 1 ภายใต้ธีม “ก้าวไกล BigBang” มีเนื้อหาน่าสนใจหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องปากท้องของประชาชน ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจไทย เอายังไงดี?”

ร่วมวงเสวนาโดยศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, อาจารย์ต้น วีรยุทธ กาญจนชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล และอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ตัวแทนภาคธุรกิจเครือข่ายสตาร์ทอัพ ดำเนินรายการโดย ธงชัย ชลศิริพงษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Brand Inside

อิสริยะ ฉายภาพเศรษฐกิจไทยในหลายประเด็นทั้งเรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจไทยกับการเอาตัวรอดในยุคเศรษฐกิจเปิดกว้างเสรีจนผู้ประกอบการไทยแทบอยู่ไม่ได้ ไปจนถึงการพัฒนาทักษะแรงงานในยุคนี้ในทางสร้างสรรค์มันควรจะเป็นยังไง?

อิสริยะเริ่มต้นด้วยเรื่องดาต้า เซ็นเตอร์ โดยระบุว่า ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยเห็นข่าว CEO ไมโครซอฟต์ Satya Nadella เยือนไทย เป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ ได้พบปะกับนายกรัฐมนตรี ไมโครซอฟต์เป็นบริษัทมีมูลค่าใหญ่อันดับ 1 ของโลกเคียงคู่กับบริษัท แอปเปิล

Satya ประกาศตั้ง ดาต้า เซ็นเตอร์ในไทย ถือเป็นเรื่องดีที่บริษัทนี้มาตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ในไทย ถ้าเราย้อนดูโลกเทคโนโลยีตอนนี้ ธุรกิจฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ มือถือ รถยนต์อีวี ฯลฯ มันชัดเจนว่าผู้ชนะคือประเทศจีน ไม่ว่าจะใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์แบรนด์ใด ส่วนใหญ่ผลิตในจีนและนำมาขายในไทย

ขณะที่เมื่อพูดถึงซอฟต์แวร์ ก็มักจะพูดถึง AI คุณคิดว่าประเทศใดชนะ? เราจะเห็นว่า AI ทุกตัวมักผลิตในอเมริกา เทรนด์ชัดเจนคือ ถ้าฮาร์ดแวร์ไปจีน ถ้าซอฟต์แวร์ไปอเมริกา

ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผู้นำเทคโนโลยีโดยเฉพาะอเมริกาต่างมาเยือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไมโครซอฟต์มาไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ Tim Cook ซีอีโอ แอปเปิล มา 3 ประเทศเหมือนกัน คืออินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ล่าสุด อเมซอน (AWS) บริษัททำคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพิ่งไปจัดงานที่สิงคโปร์ และประกาศลงทุนเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ สัปดาห์หน้าจะมาไทย

ไมโครซอฟท์

เกิดอะไรขึ้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

โลกทุกวันนี้เป็นสองขั้ว อเมริกากับจีน แกนหลักของโลกคืออเมริกากับจีน ฝั่งอเมริกาตอนนี้กำลังเดินสายหาตลาดเพื่อล้อมกรอบจีน ฝั่งซอฟต์แวร์บริษัทอเมริกันเยือนยุโรปเกือบหมดแล้ว ตามด้วยอินเดียที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ตอนนี้เริ่มมองการค้า การลงทุน จากเดิม SE Asia เป็นตลาดที่ยังว่างอยู่ ไม่มีผู้ชนะที่แพ้ขาดระหว่างอเมริกากับจีน เวียดนาม

Tim Cook จาก Apple ไปเวียดนาม ไปทำเรื่องการลงทุนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น iPhone ส่วนอินโดนีเซีย ไปทำเรื่องโปรแกรมเมอร์ ไม่มีฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เท่าเวียดนาม แต่มีประชากรจำนวนมาก 300 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไปตั้งออฟฟิศขนาดใหญ่ที่สิงคโปร์เพื่อตั้งเป็นสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคนี้ เป็นการขยายเพิ่ม

นี่เป็นโอกาสของไทย กระแสลมมาแล้ว ผู้บริหารระดับไอทีที่เราไม่เคยคิดว่าจะมามาก่อน เขามาของเขาเอง เพราะเขาเห็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น คำถามสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะสามารถกอบโกยโอกาสเหล่านี้ขึ้นมาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้หรือเปล่า?

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

ไมโครซอฟต์มาไทย แต่ไม่ประกาศเม็ดเงินลงทุน สะท้อนอะไรบ้าง?

การตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ เป็นข่าวดีอยู่แล้ว เหตุผลที่ไม่ประกาศอาจเป็นเพราะช่วงเริ่มต้น ยังไม่สรุปว่ายังไม่เสร็จ จึงไม่ประกาศ

ถ้าถามถึงเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ดาต้า เซ็นเตอร์ เป็นธุรกิจที่ใช้คนน้อยมาก เพราะว่าระบบมันอัตโนมัติหมด ถ้าเรานึกถึงภาพดาต้า เซ็นเตอร์ เห็นคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่เยอะๆ แทบไม่ใช้คนเลย หลักสิบหลักร้อยไม่เกินนี้ อาจจะสร้างตึกเป็นพันล้าน หมื่นล้าน แต่มีการจ้างงานน้อยมาก เพราะใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมหมด

สมัยก่อน คนมีหน้าที่วิ่งไปเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ แต่ตอนนี้มีหุ่นยนต์คีบฮาร์ดดิสก์ออกมาแล้วเปลี่ยน ดาต้า เซ็นเตอร์ทั่วโลกจะมีแบบพิมพ์หรือ Blueprint ทำหน้าตาเดียวกันใช้ได้ทั้งโลก เอาคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ผลิตในไทย และเอาซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้ผลิตในไทยมาลง มีจ่ายค่าไฟแน่นอน แต่ไม่ได้สร้างงานมากขนาดนั้น

แม่ค้าพ่อค้าในไทยเคยซื้อสินค้าจากจีนมาขายออนไลน์ ปัจจุบันแม่ค้าพ่อค้าจีนมาขายสินค้าเองในไทยเลย

ในฐานะที่อยู่ภาคธุรกิจและอยู่ในสายสตาร์ทอัพไทย คนที่มาในงานอาจจะเคยทำงานค้าขาย หรือเราอาจจะมีคนรอบตัวทำอาชีพค้าขาย ค้าปลีก ซึ่งเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วจะโดนอีคอมเมิร์ซตีตลาด ยุคถัดมาคนส่วนมากผันตัวมาเป็นแม่ค้าออนไลน์ จะขายผ่านแพลตฟอร์มหรือโซเชียล สิ่งที่เกิดขึ้นคือก่อนหน้านี้ แม่ค้าออนไลน์ของไทยไปหาสินค้าจากจีนมา มีคอร์สออนไลน์ให้เรียนเต็มว่าจะหาสินค้าตัวไหนน่าสนใจ นำเข้ามา เปิดร้าน ยิงแอดยังไง

ปัจจุบัน แม่ค้าออนไลน์ในจีนมาเปิดขายในไทยเองโดยตรง ถ้าเราเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และเราหาสินค้าบางตัว เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เห็นชัดเจน มันจะมีร้านแบรนด์ที่เป็นตัวแทนนำเข้าจากไทยอยู่ร้านหนึ่ง และมันจะมีร้านที่เราอ่านชื่อไม่ออก ผลิตมาเหมือนกันเป๊ะ คำถามคือ มันเป็นสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเดียวกันหรือเปล่า คำตอบก็คือใช่

ตอนนี้เราเปลี่ยนยุค แม่ค้าไทยไปเอาสินค้าจีนมาขายในอีคอมเมิร์ซ ตอนนี้แม่ค้าจีนบุกเข้ามาในอีคอมเมิร์ซไทยโดยตรง สำหรับการเป็นผู้บริโภคมันดีรึเปล่า ได้ของถูก มันดีแน่นอน จาก 500 บาทเหลือ 300 บาท แล้วคำถามต่อมาก็คือ มันจ้างงานหรือเปล่า?

ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มเห็นเพื่อนที่เป็นแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์เริ่มบ่นว่าขายของไม่ได้ ทำยังไงดี คนกลุ่มนี้เวลามาทำอาชีพนี้ก็จะน่าตื่นเต้น มาทำค้าขายออนไลน์กันเถอะ แต่เวลาเขาหายไป เขาไม่ได้ประกาศ เขาค่อยๆ หายเงียบไป

คำถามคือ คนกลุ่มนี้ที่เคยมีรายได้ แล้วเขาเป็นยังไงต่อ
คำถามด้านเศรษฐกิจไทยคือ

กำลังซื้อมันหาย อาชีพไม่มี กระตุ้นเศรษฐกิจอีกกี่ดิจิทัล วอลเล็ตก็ช่วยไม่ได้ ถ้าอาชีพดั้งเดิมมันหายไปแล้ว นี่คือฝั่งของสินค้า

Policy Fest ครั้งที่ 1

เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างเสรีมาก จนผู้ประกอบการไทยแทบอยู่ไม่ได้
แต่มีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่สุดรายเดียว คือธนาคาร?

ฝั่งของบริการ ผมอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อยู่ในอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพ สตาร์ทอัพไทยพูดกันมา 10 กว่าปีแล้ว คำถามทีทุกคนถามกันอยู่ตลอด ทำไม สตาร์ทอัพไทยถึงไม่โต ทำไมสตาร์ทอัพไทยไม่ค่อยมียูนิคอร์น มีบริษัทที่ออกไปประสบความสำเร็จในตลาดต่างชาติ

รัฐบาลไทย 7-8 ปีที่แล้วมักพูดเรื่องสตาร์ทอัพ พูดเรื่องการลงทุน บริษัทหน้าใหม่ที่หวังว่าจะเป็นเสือตัวใหม่ของเศรษฐกิจ เป็นยูนิคอร์นมากอบกู้เศรษฐกิจไทย ทำไมมันไม่เกิด ผมคิดว่าคำตอบก็คือเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมาก ดังนั้นสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเราใช้แพลตฟอร์มของต่างชาติเกือบหมด

ถ้า 10 กว่าปีที่แล้ว มีคนพยายามทำแพลตฟอร์มแชทของไทยบนสมาร์ทโฟน ในยุคที่เป็นแบล็คเบอร์รี่ ฯลฯ แต่ยุคปัจจุบัน แอปแชท โซเชียลมีเดีย วิดีโอ อีคอมเมิร์ซ เราใช้ของอะไร ส่วนใหญ่เราใช้ของยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งอเมริกา จีน มีสิงคโปร์นิดหน่อย แต่ในบางประเทศจะยังมีแพลตฟอร์มของตัวเองค้างอยู่บ้าง เช่น เวียดนามมีแอปแชทของตัวเอง เกาหลีใต้ก็พอมี ญี่ปุ่นยังมีแอปแชท LINE

แต่มันจะมีตลาดเซกเมนต์ที่คนไทยใช้แอปของไทยเอง เวลาไปร้านอาหารตามสั่งแถวบ้านเราใช้แอปอะไร? ใช้คิวอาร์โค้ด ระบบการจ่ายเงินของไทยที่เป็นคิวอาร์โค้ดที่เราใช้กันในปัจจุบัน ก้าวหน้ามากหลายประเทศไม่มีคิวอาร์โค้ดกลางแบบไทย จะเป็นของค่ายใดค่ายหนึ่ง ถ้าจีนก็จะมี Alipay มี WeChat

ถามว่า ทุกวันนี้ใครใช้แอปจ่ายตังค์ของต่างชาติในไทยบ้าง? ผมเชื่อว่าทุกคนใช้แอปธนาคารในประเทศเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด เป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ถามว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น? เหตุผลคือธุรกิจภาคการชำระเงินของไทย เป็นธุรกิจที่มีการกำกับดูแลเข้มข้น ถ้าเราเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินของต่างประเทศ จะเข้ามาให้บริการในแพลตฟอร์มของไทย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยสามารถรักษาตลาดผู้ให้บริการชำระเงินให้เป็นผู้บริการไทยได้ ก็เพราะว่ามันมีมาตรการคุ้มครองผู้เล่นในประเทศบางอย่าง ภาษาเศรษฐกิจเรียกว่า Protectionism ก็คือไม่เปิดให้คู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาเล่นในตลาดไทยง่ายๆ

Policy Fest ครั้งที่ 1
คำถามที่ผมอยากกถามบนเวทีก็คือ
ทำไมภาคธนาคารเราคุ้มครองได้ แต่ทำไมเศรษฐกิจภาคอื่นเราปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรี

ลายเป็นว่าผู้เล่นไทยที่มีขนาดเล็กกว่าผู้เล่นต่างชาติ เราคงไม่สามารถทำโซเชียลเน็ตเวิร์กแข่งกับ Google, Facebook หรือ TikTok ได้

ทำไมภาคอื่นเราปล่อยได้หมด แต่ภาคธนาคารที่เรากำกับดูแลอยู่สามารถต่อสู้ได้ ถ้าเรามีมาตรการบางอย่างในการส่งเสริมให้ผู้เล่นไทย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือ SMEs หรือภาคธุรกิจอื่นๆ ได้มันก็น่าจะทำได้แบบเดียวกันหรือเปล่าที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่ก้าวหน้า เติบโต เจริญรุ่งเรืองและสร้างงานให้คนไทยได้มหาศาล

สำหรับประเด็นการพัฒนาแรงงาน

ถ้าคนคือจุดตั้งต้นของทุกสิ่ง เราเห็นว่าอุตสาหกรรมของโลกนี้กำลังพุ่งไป ทิศทางชัดเจนว่าอุตสาหกรรมไหนคือดาวรุ่ง ถ้าเป็นรถยนต์ก็คือ EV ถ้าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็คือเซมิคอนดักเตอร์ ถ้าเป็นซอฟต์แวร์ก็คือ AI

ถ้าประเทศไทยไม่มีคน ข้อเสนอง่ายๆ ก็คือ การส่งคนไปยังประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องนั้นที่สุดในโลก

เราไม่มีคนออกแบบรถยนต์ EV เราก็ส่งวิศวกรยานยนต์ที่เก่งที่สุดของเราไปอยู่ที่จีน ไปเรียนรู้ว่าเขาทำ EV อย่างไร EV จีนตามที่อาจารย์ต้นบอกมีบริษัทกว่า 200 แห่ง อาจจะมีสัก 10 แห่ง สิ่งที่เราต้องทำกันใหม่ คือเราต้องส่งคนไปอยู่บริษัทอย่างนี้ ไปอยู่ให้เก่ง ไปอยู่สัก 5-10 ปี

ก่อนหน้านี้เรามีเทรนด์เรื่องการย้ายประเทศ มีการถกเถียงกันว่าย้ายไม่ย้าย ชังชาติหรือเปล่า ความเห็นของผมก็คือ ย้ายได้ ย้ายเลย แต่ขอให้คุณไปในที่ที่เก่งที่สุดในโลก

ถ้าคุณเป็นวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ คุณไปไต้หวัน TSMC บริษัทชิปที่เก่งที่สุดในโลก คุณไปทำงาน ไต่เต้า พัฒนาตัวเองจนเป็นวิศวกรชิปที่เก่งที่สุดในโลก คงต้องใช้เวลา

ซอฟต์แวร์ก็มีคนไทยทำงานในซิลิคอนวัลเลย์กันเยอะ เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน ผมอยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ทั้ง EV หรือเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมเหล่านี้มันขาดคน ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์กำลังบูมแต่คนไต้หวันไม่พอ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ออกนโยบายว่าถ้าเซมิคอนดักเตอร์คืออนาคตของไต้หวัน ต้องเพิ่มหลักสูตรในการเรียนทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท เพิ่มให้เยอะที่สุดเพราะภาคธุรกิจขาดคน คนไม่พอ นักเรียนไต้หวันก็ไม่พอ

ถ้าย้อนดูภาคเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันก็เติบโตด้วยวิธีนี้ ส่งคนไปทำงานอเมริกายุค 70-80 ชิปยังอยู่อเมริกาอยู่ ต่อมา คนไต้หวันพอทำงานระดับหนึ่งก็กลับมาเปิดโรงงาน เปิดบริษัท TSMC และอีกหลายบริษัทเพื่อสร้างอุตสาหกรรมของไต้หวัน

นี่คือโอกาสสำหรับประเทศไทยจะใช้รูปแบบเดียวกัน ที่ตลาดโลกคนไม่เพียงพอ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ทุนรัฐบาลอย่างเดียว รัฐบาลไต้หวันหรือมหาวิทยาลัยไต้หวันก็มีการให้ทุนจำนวนมาก วิธีการจะไปก็มีหลายวิธี จะทำงานกับบริษัทไทยและให้บริษัทส่งไปก็ได้ หรือจะเรียนต่างประเทศ

การท่องเที่ยว

สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าอยากประเทศไทยต้องการสร้างอุตสาหกรรมก็ต้องมีทักษะที่ดีก่อน

ไปอยู่ที่นั่น เอาทักษะในระดับโลกกลับมาประเทศไทย ผมคิดว่าถึงจุดหนึ่งแล้วคนไทยที่ไปเรียนหรือทำงานต่างประเทศ อยากจจะกลับมาประเทศไทย มีญาติพ่อแม่พี่น้องอยู่ที่นี่ แต่คำถามคือ กลับมาแล้วจะให้เขาทำอะไร หลายคนกลับมาทำสตาร์ทอัพก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างที่กล่าวไปแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยเปิดกว้าง สตาร์ทอัพไทยแข่งขันไม่ได้ ทุกวันนี้มีสตาร์ทอัพไทยจำนวนมากที่เกิดจากคนที่เป็นวิศวกรเก่งๆ อยู่ต่างประเทศเก่งมาก อยู่บริษัทระดับโลกทั้งนั้น แต่กลับมาไทยไม่มีจะกิน นี่คืออีกข้อเสนอของผม รัฐไทยต้องสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจให้มากกว่านี้

วิธีการที่รัฐไทยให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ผ่านมา คือ 1) ให้ทุนให้เปล่า (Grant) เพราะมีกฎระเบียบบางอย่าง เช่น ให้เงินเล่าจะกลัวคอรัปชั่น จึงให้ได้ไม่เยอะ ให้ 1-2 ล้าน ใช้แป้บเดียวก็หมด เพราะบางธุรกิจต้องลงทุนสูง

2) BOI ทำบ่อยที่สุดคือให้สิทธิทางภาษี ถ้าคุณตั้งบริษัทในไทย โรงงานในไทย อาจจะเว้นภาษี 5-10 ปี แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการนั้น สำหรับเงินให้เปล่าก็ไม่ต้องก็ได้ เพราะช่วยอะไรได้ไม่เยอะ ส่วนสิทธิด้านภาษีนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะมันขาดทุน ปีแรกๆ ขาดทุนมหาศาล ให้สิทธิเว้นภาษีก็ไม่ช่วยอะไร

ผมคิดว่าสิ่งที่สตาร์ทอัพไทยต้องการ ผู้ประกอบการไทยต้องการ ก็คือ เขาต้องการตลาด รัฐบาลไทยมีโปรเจกต์ดีๆ หลายอันที่เราอยากจะลงทุนสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตหลายแสนล้าน สมมติว่าเราอยากทำโซลาร์เซลล์ เราต้องไปที่ไหน สุดท้ายก็ไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาทำอยู่ดี

ทำไมเราไม่เอาเงินงบประมาณก้อนนี้ที่ต้องใช้อยู่แล้ว แทนที่จะไปซื้อสินค้าต่างประเทศให้ขาดดุลเพื่อมาทำอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทำไมเราไม่เอาพวกนี้มาอุดหนุนบริษัทคนไทยที่ผลิตสินค้าในไทย ที่สร้างบริการเหล่านี้โดยคนไทย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้ เราพูดเรื่อง Reskill จนเบื่อ ทำไมเราถึงจัดงานสัมมนา และเอาเงินไปลงกับพวกโรงแรม อาหาร ลงทุนไม่เข้าเป้า ทุกคนไปเรียน เซ็นชื่อ กินข้าวกลับบ้าน ทำไมเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด ประเทศไทยมีแพลตฟอร์ม Online Learning หลายตัวที่คุณภาพดี แต่คนไทยหลายคนก็ขี้เกียจหรือไม่อยากเรียน หรือเรียนไซส์ไม่ใหญ่พอ ผู้ประกอบการ E-Learning แพลตฟอร์มของไทยมีหลายเจ้าเลยก็ไม่ได้โตอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเราลองปรับวิธีคิดเอาโครงการ Upskill แทนที่จะให้ภาครัฐเป็นคนจัด เปลี่ยนวิธีคิดดู ให้ภาครัฐออกคูปองให้ดีไหม ให้ประชาชนไทยทุกคนได้สิทธิเรียน E-learning คนละ 5,000 คนละ 10,000 บาท เพื่อให้ประชาชนเอาเงินไปสมัครคอร์สที่ตัวเองอยากเรียน

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ประกอบการพัฒนาคอร์ส E-Learning จะเห็นโอกาสและพัฒนาคอร์สที่มันน่าสนใจกว่าที่เราไปเรียนคอร์สของภาครัฐ คนเรียนได้ประโยชน์ สตาร์ทอัพได้ประโยชน์ รัฐบาลใช้เงินได้ใช้งบประมาณอย่างตรงเป้า ถ้าเราปรับวิธีคิดใหม่ มองเรื่องปัญหา มองโอกาสว่าควรจะไปทางไหน และเอางบประมาณพวกนี้มาอุดหนุนผุ้ประกอบการธุรกิจไทยด้านต่างๆ นี่แค่ตัวอย่างเรื่องเดียว เวลาผ่านไป 3-5 ปีจะเห็นยูนิคอร์นที่เป็นแพลตฟอร์ม E-Learning ของไทยใหญ่ขึ้น และอาจจะออกไปทำตลาดต่างชาติได้ด้วยซ้ำ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา