วิเคราะห์หน้า 3 : ยกร่าง รัฐธรรมนูญ วัคซีน การเมือง ขับเคลื่อน ประเทศ
แม้จะเป็นธรรมดาที่รัฐสภาจะลงมติ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ร่างกฎหมายต่างๆ ที่มีการนำเสนอ
แต่สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งตกไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ถือว่าไม่ปกติ
ทั้งนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 10 ของนโยบายเร่งด่วน แม้ว่าในรายละเอียดนโยบายเร่งด่วนจะคาดหวังไว้แค่การศึกษา หากแต่เมื่อการขับเคลื่อนสามารถผลักดันจนเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล ถือว่าคืบหน้าอย่างยิ่ง
แต่แล้วกฎหมายที่ผลักดันโดยพรรคร่วมรัฐบาลกลับถูกคว่ำในวาระ 3 ด้วยมติเห็นชอบ 208 ไม่เห็นชอบ 94 ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136
ในจำนวนผู้เห็นชอบส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้น ส่วนพรรครัฐบาลส่วนใหญ่จะไม่ประสงค์ลงคะแนน
ทำให้เสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตกไป
แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่า สาเหตุที่มติออกมาเช่นนั้นเป็นเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีข้อสังเกตว่าผู้ที่ผลักดันให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ คือ แกนนำของพรรคพลังประชารัฐ
น่าสังเกตอีกว่า ผู้ที่พลิกเกมในรัฐสภาจนกระทั่งโหวตลงมติ ก็คือแกนนำของพรรคพลังประชารัฐ
เท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ลงมติในวาระ 3
พรรคพลังประชารัฐงดออกเสียงในวาระ 3
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคว่ำ
คำถามจึงกึกก้องว่า เมื่อรัฐบาลไม่สามารถทำตามนโยบายที่สัญญาเอาไว้ได้
ทำไมรัฐบาลจึงไม่ลาออก
พรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่สามารถทำตามคำสัญญาได้ ทำไมจึงยังทำงานกันอยู่ตามปกติ
ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงไม่ยุบสภา
ผลสะเทือนจากการล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐสภาลดต่ำ
สำหรับรัฐบาลนั้นต้องยอมรับว่า เครดิตของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะที่มาจาก คสช. ถดถอยมาระยะหนึ่งแล้ว กระทั่งเกิดม็อบออกมาขับไล่
เมื่อเครดิตของรัฐบาลถดถอย รัฐสภาได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่หาทางออก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ข้อเสนอที่จะนำไปสู่ทางออก
ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบในทางออก
เปิดทางเลือกตั้ง ส.ส.ร. เปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ทำประชามติ
การพิจารณาในวาระ 2 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เสนอ
ความหวังที่จะเห็นรัฐสภาเป็นกลไกหาทางออกบังเกิดขึ้น
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
สรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจรัฐสภา ประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องประชามติ และเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องประชามติอีกครั้ง
กระทั่งเกิดการตีความคำวินิจฉัยไปหลายแนวทาง จนนำไปสู่การเสนอญัตติในที่ประชุมรัฐสภาก่อนจะถึงวาระการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3
แต่สุดท้าย พรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภา มีมติเห็นชอบให้ลงมติวาระ 3 โดยล้มญัตติทางออกที่รัฐสภานำเสนอ
ตอกย้ำเสียงข้างมากในรัฐสภาที่มี พรรคพลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภา ยึดครอง
นี่แหละคือปัจจัยที่ทำให้รัฐสภาเริ่มถดถอย
เมื่อ คสช.สืบทอดอำนาจด้วยข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนรัฐบาลเติบโตขึ้นตามกลไกของรัฐธรรมนูญ เมื่อสมาชิกวุฒิสภามาจากการคัดเลือกกลั่นกรองของ คสช.
เมื่อรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นความขัดแย้ง แต่เมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกยับยั้ง
ยับยั้งด้วยเสียงโหวตของพรรคพลังประชารัฐ และวุฒิสภา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คนเชื่อว่ารัฐบาลกับรัฐสภาคือพวกเดียวกัน
ความคาดหวังที่อยากเห็นรัฐสภาเข้ามาลดความขัดแย้งทางการเมืองจึงไร้ประโยชน์
แม้จะมีข้อเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่เมื่อรัฐสภามีเสียงของพรรคพลังประชารัฐกับสมาชิกวุฒิสภายึดกุม
การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจึงเป็นเรื่องของการแก้ไขกฎกติกาเดิมให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐสภา
มิได้ลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ปัญหาการเมืองจึงยังคงดำรงอยู่ต่อไป
ปัญหาทางการเมืองย่อมมีผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ
ในงานสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” จัดโดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีข้อเสนอ
นายเศรษฐาระบุว่า วัคซีนเข็มแรกที่อยากให้ฉีดเลย คือ การเมืองและสังคม ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าการเมืองไม่แน่นอน เศรษฐกิจก็เดินไปต่อไม่ได้
นายเศรษฐามองว่า ประชาชนหลายคนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงอยากให้มีการแก้ไข ส่วนจะแก้ไขอย่างไร เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยประนีประนอม เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันของทุกวัย การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวร้าวกัน การที่ต้องไปดูประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเราอยู่มาได้อย่างไร แก้ไขในวาระที่สมควรที่ต้องแก้
ไม่อยากเห็นปัญหาทางการเมืองสังคมมาเป็นตัวฉุดรั้งทางเศรษฐกิจ
เสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นเพียงเสียงหนึ่งจากภาคธุรกิจที่มองปัจจัยทางการเมืองว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
การเมืองมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต
แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่บังเกิดขึ้นกลับกลายเป็นข้อสงสัยว่า แนวโน้มต่อไปข้างหน้าความขัดแย้งทางการเมืองจะบานปลายกลายเป็นตัวฉุดรั้งทางเศรษฐกิจหรือไม่
ดังนั้น รัฐบาลนอกจากจะเดินหน้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจอย่างดีแล้ว ควรจะเร่ง “วัคซีนทางการเมือง”
เร่งลดอาการป่วยของประเทศ ลดความขัดแย้งอันเกิดจากรัฐธรรมนูญ
เพื่อมิให้การเมืองกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของประเทศไทย