“อ.ไชยันต์” ชี้ “ตรรกะวิบัติทางจริยธรรม” นักการเมืองโกงแล้วแบ่ง ไม่เป็นไร ซัด เป็นสิ เขาโกงประชาชนทุกคน โกงไปถึงอนาคต


“อ.ไชยันต์” ชี้ ไทยและหลายประเทศ กำลังเจอ“ตรรกะวิบัติทางจริยธรรม” นักการเมืองโกงแล้วแบ่ง ไม่เป็นไร ระบุชัด เป็นสิ เขาโกงประชาชนทุกคน โกงไปถึงอนาคต โกงจนความร่ำรวยของเขายาวไปถึงลูกหลานเหลนโหลน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้( 21 ก.พ.67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ว่า

“นักการเมืองโกงแล้วแบ่ง

ไม่เป็นไร ?

เป็นสิครับ เขาโกงประชาชนทุกคน โกงไปถึงอนาคต

เขาโกงประชาชนจนความร่ำรวยของเขายาวไปถึงลูกหลานเหลนโหลนของเขา

ทั้งนี้ อ.ไชยันต์ ได้แชร์งานวิจัยของตนในเว็บไซต์สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เรื่อง โกงได้ไม่เป็นไรหากแบ่งหรือให้ประโยชน์ กับ ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลของจอน เอลสเตอร์ Jon Elster’s Rational Choice Theory and the problem of “Steal as much as you want, as long as you let me have some” in Thai Politics สรุปว่า

ปัญหาการทุจริตทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการใช้นโยบายประชานิยมในลักษณะที่หวังผลเฉพาะหน้าทางการเมือง ได้มาสู่การยอมรับสภาพดังกล่าวของประชาชนจำนวนมากที่มีความเห็นว่าตนสามารถยอมรับการทุจริตในทางการเมืองได้ หากจะได้รับผลประโยชน์เฉพาะหน้าจากสภาพดังกล่าว ปัญหาในลักษณะดังกล่าวนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในการเมืองไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ด้วย ดังปรากฏในงานวิจัยของนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ได้แก่ 1) Luigi Manzetti and Carlole J. Wilson, (2007), “Why Do Corrupt Governments Maintain Public Support?” (เพราะเหตุใดรัฐบาลที่ทุจริตจึงรักษาการสนับสนุนจากสาธารณะไว้ได้) และ 2) Jordi Munoz, Eva Anduiza and Aina Gallego, (2012), “Why do voters forgive corrupt politicians?”(เพราะเหตุใดผู้ลงคะแนนเสียงจึงให้อภัยนักการเมืองที่ทุจริต)

จากเงื่อนไขข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า ได้นำมาสู่สิ่งที่ในแง่หนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหา “ตรรกะวิบัติทางจริยธรรม” ของผู้คนในสังคม ซึ่งหนึ่งในการทำความเข้าใจและหาทางออกจาก “ตรรกะวิบัติทางจริยธรรม” ผู้เขียนได้วิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีแนวการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Rational Choice Theory) ของจอน เอลสเตอร์ เริ่มจากสมมติฐานที่ว่า มนุษย์ทุกคนถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่หวังผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และมนุษย์ทุกคนคิดอยู่ภายใต้กรอบที่ว่าจะเลือกวิธีการที่ลงทุนหรือใช้ต้นทุนน้อยที่สุดแต่ได้ประโยชน์มาที่สุด ดังนั้น การมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจึงไม่ใช่เรื่องผิดจริยธรรมคุณธรรมแต่อย่างใดของสำนักคิดนี้

อีกทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลจะไม่สนใจที่จะวิเคราะห์อธิบายหรือหาทางออกในเชิงศีลธรรมและจริยธรรม แต่จะเน้นไปที่การใช้เหตุใช้ผลของปัจเจกบุคคลและมุ่งหวังที่จะให้การใช้เหตุใช้ผลมีความสำคัญเหนือคำอธิบายเชิงจริยธรรมศีลธรรมที่มีปัญหาในเชิงคำอธิบายที่มาและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น สำหรับผู้คนในสภาวะสมัยใหม่ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นแนวทางที่จะอธิบายและแก้ปัญหาการทุจริตและผลพวงอันเลวร้ายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลกว่าการอิงอยู่กับชุดศีลธรรมที่ดำรงอยู่เดิม

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2558 : เขียนบทความโดย ไชยันต์ ไชยพร)สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y81/ton2_1.pdf