หลังจากศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษ 3 คดี จำคุก 8 ปี ก่อนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แล้วในคืนเดียวกันก็ถูกส่งตัวมารักษาที่ รพ.ตำรวจ ด้วยอาการป่วยอย่างกะทันหัน
จากนั้น “ทักษิณ” ได้ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี
สรุปแล้ว “ทักษิณ” อยู่ในเรือนจำจริงไม่ถึง 1 วัน และยังไม่มีวี่แววจะถูกส่งกลับเข้าเรือนจำแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น ยังมีระเบียบกรมราชทัณฑ์ออกมาใหม่ ว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำ ออกมารองรับโอกาสที่จะทำให้ ไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกเลยก็เป็นได้
เห็นได้จาก สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ความเห็น ระบุชัดว่า “ทักษิณ” เข้าเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ เพราะมีโทษไม่เกิน 4 ปี และไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในข่ายสิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษในลักษณะที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม จึงสามารถอยู่ในที่คุมขังได้ และเป็นโทษที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ปี
ทั้งนี้ “สมศักดิ์” ยังเกี่ยวข้องกับการออกระเบียบใหม่นี้ด้วยในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ซึ่งริเริ่มออกระเบียบดังกล่าว แม้จะไม่เสร็จสิ้นที่สมัยที่ตนเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ตาม
ท่ามกลาง กระแสกดดันที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่แต่เฉพาะ “นักร้องขาประจำ” ที่สังคมอาจไม่ให้น้ำหนักมากนัก และนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณอยู่แล้ว หากแต่เริ่มขยายวงกว้างออกไปสู่กลุ่มคนที่รักความยุติธรรม ไม่เห็นด้วยกับการใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น หรือใช้ “อำนาจบารมี” เพื่อตัวเอง
โดยเฉพาะ หลังการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ครบ 120 วันแล้ว จะเอาอย่างไรต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในรัฐบาลจะต้องตอบคำถามอยู่เหมือนกันว่า ตกลงแล้ว “ทักษิณ” อาการเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นจนพร้อมถูกส่งกลับเรือนจำหรือยัง หรือเลวร้ายกว่าเดิมอย่างไร
นัยว่า งานนี้ แม้แต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ต้องหลบหลีกลาพักผ่อน เพื่อหลบเลี่ยงประเด็นนี้
ด้าน “ต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้นำฝ่ายค้านใหม่หมาด ก็ได้ออกมาจี้รัฐบาลเช่นกันให้เคลียร์ให้ชัดเจน กรณีการรักษาตัวอยู่ รพ.ตำรวจ ของ “ทักษิณ”ครบ 120 วัน แล้วเกิดคำถามเรื่องมีอภิสิทธิ์ รวมทั้งกังวลว่าระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์อาจเกิด 2 มาตรฐาน
แม้ท่าทีของ “ชัยธวัช” จะถูกมองว่า ความรู้สึกช้า ไม่สมกับการเป็นฝ่ายค้านคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ปล่อยให้คนอื่นค้านนำกระแสไปแล้วหลายก้าว แต่ก็ยังโหนกระแสได้ทัน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกรพ.ตำรวจ ออกมาชี้แจง ท่ามกลางกระแสสับสนของสังคมว่า พื้นที่การควบคุมผู้ต้องขัง ตามคำสั่งศาลเป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 รวมถึงโรงพยาบาลตำรวจมีหน้าที่รักษาคนไข้เพียงอย่างเดียว อีกทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้
รวมทั้งยังขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ ให้ระมัดระวังการนำเสนอภาพข่าวหรือภาพ เพื่อไม่ให้ไปกระทบสิทธิผู้ป่วยและประชาชนที่มาใช้บริการ
นี่คือ ปราการด่านสำคัญ ที่ทำให้ข้อมูลอาการป่วยของ “ทักษิณ” มีข้ออ้างที่ไม่อาจเปิดเผยได้?
ที่สำคัญ แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เขียนบทความเผยแพร่ เรื่อง คู่มือช่วยนักโทษไม่ให้ติดคุก!!!เอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งครอบคลุมทุกประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัย และอยากรู้คำตอบ กล่าวคือ
“ถาม ถ้าพ้น ๑๒๐ วันไปแล้ว นช.ทักษิณ จะนอนโรงพยาบาลตำรวจต่อไปอีกได้ไหม?
ตอบ ระเบียบบอกไว้ว่า ถ้ายาวนานถึง ๙๐ วัน ให้ ผบ.เรือนจำ รายงานอธิบดีราชทัณฑ์ ถ้าถึง ๑๒๐ วัน ก็ให้อธิบดีรายงานรัฐมนตรี บทบัญญัติอย่างนี้ ผู้รับรายงานจะทำแค่ลงนาม “ทราบ” เท่านั้นไม่ได้ เพราะนี่เป็นการมอบหมายหน้าที่ให้ต้องตรวจสอบอย่างจริงจังว่า นช.ทักษิณ ป่วยจริงหรือไม่ เรื้อรังหนักหนาถึงขั้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ดูแลไม่ไหวจริงหรือเปล่า
ถาม ถ้าเขาไม่ยอมตรวจสอบเลย จะเกิดอะไรขึ้น
ตอบ ถึงจุดนี้ อำนาจตรวจสอบ ทั้งของนายกรัฐมนตรี, ของคณะกรรมาธิการสภา, ขององค์กรอิสระ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปปช. ก็มีความชอบธรรมที่จะล่วงเข้ามาตรวจสอบ การใช้อำนาจดุลพินิจนี้ได้แล้ว และจะอ้างสิทธิส่วนตัวของนักโทษมาปกปิดข้อมูลจากการตรวจสอบไม่ได้เลย
ถาม ถ้ากลัวการตรวจสอบก็ต้องหาทางใช้ช่องทางใหม่ จะได้ไม่ต้องกลับไปนอนคุก
ตอบ สองช่องทางแรกก็ คือ พักโทษ กับ อภัยโทษในคราว ๕ ธันวา เรื่องพักโทษนั้นไม่เข้าเงื่อนไข เหลือลุ้นอภัยโทษ ก็กลับไม่มีชื่อในประกาศ ดังนั้น พอวันที่ ๖ ธันวา จึงเกิดช่องทางใหม่ตามขึ้นมาเลย นั่นก็คือ การออกระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วย การคุมขังในสถานที่นอกเรือนจำ ที่ครอบคลุมถึงการให้นักโทษไปอยู่ตามที่พักอาศัยได้
ถาม ระเบียบนี้เขาออกมาเพื่อ นช.ทักษิณ จริงหรือครับ เพราะเรื่องคุมขังนอกเรือนจำนี้ มีกฎหมายใหม่รับรองไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ กฎกระทรวงก็ตามมาในปี ๒๕๖๓ มันเป็นไปได้หรือ ที่พวกเขาจะวางแผนช่วยกันมาตั้งแต่ ๖ ปีที่แล้ว
ตอบ ผมไม่ได้ยืนยันอย่างนั้น ผมเห็นแต่ตัวระเบียบนี้เท่านั้น ที่ดูแล้วน่าจะลนลานเร่งรัดจนตกหล่นสาระสำคัญไปหมด กฎกระทรวงปี ๖๓ ระบุให้วางระเบียบการบริหาร แนวทางปฏิบัติงาน การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังแต่ละประเภท ที่อยู่ในสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ ทั้งหมดนี้ต้องวางระเบียบให้เห็นชัดเจน เช่น ถ้าเราจะเลือกเอานักโทษคดีติดยาเสพติด มาฟื้นฟูให้อยู่ในวัดหรือมัสยิดแห่งหนึ่ง หรือถ้าจะเอานักโทษที่ร่างกายทรุดโทรมมาพักฟื้นในไร่ข้าวโพดที่วังน้ำเย็น เหล่านี้ต้องทำอย่างไร บริหารอย่างไร
ระเบียบอย่างนี้ต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ แต่กลับไม่ปรากฏในระเบียบ ๖ ธันวาเลย มีกำหนดเพิ่มขึ้นมาในเรื่องตั้งคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกนักโทษ กับคุณสมบัติกว้างๆ และกระบวนการคัดเลือก เพื่อเสนอ ผบ.เรือนจำอนุมัติเท่านั้น มันชัดเจนว่าเร่งรัดตกหล่นจริงๆ
ถาม เขาจะเอาบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” เป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำได้ไหม
ตอบ นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในข้อแรกนั้นกฎกระทรวง ปี ๖๓ ข้อ ๘ ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อออกระเบียบ ๖ ธันวา แล้ว อธิบดีจะต้องประกาศต่อไปว่า ในแต่ละเรือนจำจะมีสถานที่คุมขังนอกเรือนจำที่ใดบ้าง ประเภทใดบ้าง เช่นประเภทฟื้นฟูฝึกอาชีพผู้ติดยา, ประเภทเตรียมตัวก่อนพ้นโทษ, ประเภทพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ
ถาม บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นประเภทไหนได้บ้าง
ตอบ ได้ทั้งนั้น อาจจะรวมนักโทษคดีคอรัปชั่นทั้งเรือนจำคลองเปรมมาฟื้นฟูนิสัยให้เลิกคดโกงก็ได้ หรือเพื่อเตรียมตัวก่อนพ้นโทษก็ได้ พยาบาลก็ได้ ที่สำคัญคือจะต้องเปิดรับนักโทษที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเป็นการทั่วไป จะรับแต่นักโทษเจ้าของบ้านคนเดียวไม่ได้ ผู้คนในบ้านก็ต้องย้ายออกให้หมด เพราะบ้านกลายเป็นที่คุมขังไปแล้ว
ถาม อธิบดีราชทัณฑ์จะประกาศตามกฎกระทรวง ปี ๖๓ ให้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นสถานที่คุมขัง เพียงสถานที่เดียว จากนั้น คณะทำงานตามระเบียบ ๖ ธันวา ก็เลือก นช.ทักษิณ มาอยู่เพียงคนเดียวได้หรือไม่
ตอบ ถ้าอธิบดีกับคณะทำงานอยากติดคุก ก็เชิญเลย ติดแน่นอน…รับรองได้”
จากบทความของ อ.แก้วสรร ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ หลังครบ 120 วัน ที่ “ทักษิณ” รักษาตัวที่รพ.ตำรวจ เมื่อได้รับรายงาน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และแถลงต่อสาธารณชน ว่า อาการป่วยของ “ทักษิณ” เป็นอย่างไร พร้อมถูกส่งกลับเรือนจำหรือยัง
แต่ถ้าไม่ตรวจสอบ อำนาจตรวจสอบ ของนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมาธิการสภา, องค์กรอิสระ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปปช. ก็มีความชอบธรรมที่จะตรวจสอบ และจะอ้างสิทธิส่วนตัวของนักโทษมาปกปิดข้อมูลจากการตรวจสอบไม่ได้เลย
ประเด็น ที่เห็นชัดอยู่แล้ว คือ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี คงไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ถ้าดูจากท่าทีต่อเรื่องนี้ และการลาพักผ่อนหนีประเด็นร้อนเกี่ยวกับ “ทักษิณ”
ในขณะที่ คณะกรรมาธิการสภา, องค์กรอิสระ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปปช. เริ่มมีบางองค์กรเคลื่อนไหวแล้ว สิ่งที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ จะสามารถฝ่าด่าน “องครักษ์พิทักษ์ ทักษิณ” ไปได้หรือไม่
เพราะที่ผ่านมา ดูเหมือนเครือข่ายปกป้อง “ทักษิณ” ทั้งในระดับข้าราชการระดับสูง และผู้มีอำนาจในรัฐบาล ถือว่าไม่ธรรมดา
ยิ่งเรื่องกล้องวงจรปิดของรพ.ตำรวจเสีย ยิ่งทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการปกป้อง “ทักษิณ” ว่า ช่างกล้าและท้าทายแค่ไหน
ส่วนประเด็น “ไฮไลท์” ก็คือ ความฝันที่ “ทักษิณ” อยากกลับไปอยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” จะเป็นไปได้หรือไม่ ในขณะที่ระเบียบใหม่ กรมราชทัณฑ์ เปิดช่องให้ “บ้าน” ที่พักอาศัย เป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำด้วย
จากบทความ อ.แก้วสรร โอกาสที่ “ทักษิณ” จะกลับไปอยู่“บ้านจันทร์ส่องหล้า” ได้ ก็ต่อเมื่อ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ถูกประกาศให้เป็นสถานที่รองรับนักโทษนอกเรือนจำที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเท่านั้น “ทักษิณ” ไม่อาจถูกคัดเลือกเพียงคนเดียวมาพักที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ได้ ซึ่งถ้าขืนฝ่าฝืน อ.แก้วสรร ฟันธง “ดักคอ” เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะทำงานคัดเลือก ถูกฟ้องติดคุกแน่นอน
ดังนั้น ทางเลือก “ทักษิณ” ถ้าไม่อยากกลับเข้าคุก สถานีต่อไป จึงไม่น่าจะใช่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เพราะเจ้าของคงไม่กล้าลงทุน เปิดบ้านเป็นที่คุมขังนอกเรือนจำให้กรมราชทัณฑ์?
ส่วนจะเป็นที่ไหนนั้น ไม่น่าจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกการรักษาความปลอดภัย น้อยกว่า ชั้น 14 รพ.ตำรวจ และที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ประกาศที่คุมขังนอกเรือนจำล่าช้า อาจเพราะหาที่เหมาะสมให้ “ทักษิณ” ไม่ได้หรือไม่?
หรือพิเศษสำหรับ “ทักษิณ” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะทำงานคัดเลือก อาจทำสิ่งที่ “เหนือความคาดหมาย” ยอมให้ “ทักษิณ” อยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” คนเดียว ก็ไม่แน่เหมือนกัน โดยพร้อมเสี่ยงคุกตะรางเพื่อนาย เหมือนหลายคนที่ผ่านมา?
อย่าลืมว่า เป็น “นักโทษเทวดา” อยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ถึง 120 วัน โดยไม่มีใครกล้าทำอะไร ก็ทำมาแล้ว
ถ้ายืนยันอยากกลับไปอยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” พวกเห็นด้วยครับพี่ ดีครับท่าน ถูกครับนาย ใครจะกล้าขัดขวาง หรือไม่จริง!?