สถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมาน่าเป็นห่วงมากขึ้น หลังจากกองทัพทำรัฐประหาร และมีการใช้กำลังกับประชาชนรุนแรงขึ้น เราติดตามข่าวด้วยความเห็นอกเห็นใจ แต่เราก็อาจจะไม่ได้รู้จักและเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านของเรามากนัก “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากชวนชมภาพยนตร์ 4 เรื่องต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้รู้จักและเข้าใจประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาให้มากขึ้นกว่าเดิม
ผู้หญิง
ผู้หญิง หรือชื่อภาษาไทย “ออง ซาน ซู จี ผู้หญิงท้าอำนาจ” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวประวัติของออง ซาน ซู จี ผู้นำแห่งการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและเป็นผู้นำที่แท้จริงพรรค NLD และคณะรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเธอในช่วงเวลาที่เธอเดินทางจากอังกฤษกลับมาพม่าเพื่อเยี่ยมมารดาที่ป่วย
การเดินทางกลับมาพม่าครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเธอ เธอก้าวเข้าสู่สนามการเมืองเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของบิดา โดยมี ไมเคิล อริส สามีผู้ที่คอยให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือจนเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แม้จะมีอุปสรรคมากมาย รวมถึงไม่สามารถพบหน้าของสามีในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ แต่เธอก็ยังสู้จนถึงที่สุด
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเน้นไปที่เรื่องราวชีวิตครอบครัวของออง ซาน ซู จี แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ฉากหลังการเมืองพม่าที่วุ่นวาย การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การปราบปรามสังหารผู้ชุมนุม ทำให้ออง ซาน ซู จี กลายเป็นผู้เปลี่ยนโฉมการเมืองพม่าจนทั่วโลกต้องจับตามอง
ดินไร้แดน (Soil Without Land)
ดินไร้แดน (Soil Without Land) ภาพยนตร์สารคดีฝีมือคนไทย กำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะพาไปทำความรู้จักค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งติดกับภาคเหนือของประเทศไทย
พื้นที่แห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นศูนย์ฝึกฝนกองกำลังทหารกู้ชาติไทใหญ่ หลังจากในปี 1958 เมียนมาไม่ทำตามสนธิสัญญาปางโหลง ในการปลดปล่อยชนกลุ่มน้อยให้มีอิสระปกครองตนเอง และได้ส่งกองกำลังเข้ายึดรัฐฉาน ชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ถูกเข่นฆ่าจำนวนมาก พวกเขาจึงจัดตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อปกป้องดินแดนของตนเอง
ช่วงแรกของหนังจะมุ่งไปที่ชีวิตของจายแสงล่อด วัยรุ่นชาวไทไหญ่ที่หลบหนีเข้ามาทำงานในคาราโอเกะที่เชียงใหม่ แต่หลังจากที่เขาต้องถูกเกณฑ์ทหารตามกฎที่ว่าชายชาวไทใหญ่ทุกคนจะต้องเป็นกองกำลังกู้ชาติอย่างน้อย 5 ปี ทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายทหารกลางป่า ได้เห็นมุมมอง ความคิด ของนายทหารคนอื่น ๆ เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ความเจ็บปวดในอดีต ที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาจับอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราช
นอกจากนั้นยังได้เห็นอีกมุมของเหล่านายทหารที่พวกเขาก็ต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่และแสวงหาความสุขเหมือนคนทั่วไป ผ่านการเต้นรำกับเพื่อน ๆ การร้องเพลง การพูดคุยสังสรรค์ ภายใต้การฝึกที่เข้มงวด
ความเงียบใน Mrauk Oo
ภาพยนตร์สั้นความยาว 14 นาที จากผู้กำกับชาวพม่า กว่า Kyaw Htay และ Thadi Htar ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ Wathann Film Festival ครั้งที่ 8 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ประท้วงในเมืองมรัคอู หรือเมียวอู เมืองเล็ก ๆ ริมแม่น้ำในรัฐยะไข่ ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2018 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดครองอาณาจักรอาระกัน แต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเกิดการปะทะและนองเลือดเกิดขึ้น
เนื้อเรื่องพูดถึงจิตรกรหนุ่มที่เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อตามหาความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของบิดา เขาออกสอบถามผู้คนที่พอจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ จนไปพบกับลุงซึ่งบวชเป็นพระ แต่สุดท้ายแล้วเขากลับไม่พบคำตอบที่แท้จริง
แผ่นดินนี้คือแผ่นดินของเรา
ภาพยนตร์สารคดีที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของชาวนาเมียนมาในเขตมาเกว (Magway Region) และรัฐฉาน (Shan State) ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจะตั้งหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินของตน
ชาวนา 5 คนประสบปัญหาแตกต่างกันออกไป ทั้งการสูญเสียที่นาเนื่องจากรัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนโดยไม่บอกกล่าว อีกคนโดนรัฐเข้ามายึดที่ดินบางส่วน ซึ่งได้ค่าสินไหมทดแทนเพียงน้อยนิด ปัญหารายได้ที่ไม่มากพอจะเลี้ยงดูครอบครัวจนต้องลักลอบเข้าไปตัดไม้มาทำเป็นฟืนขาย ปัญหาน้ำท่วมทั่วหมู่บ้านจนไม่มีพื้นที่เพาะปลูก และการขุดพบถ่านหิน ทำให้เกิดผลกระทบต่อพืชไร่ของชาวบ้าน
แม้จะลำบากยากเข็ญอย่างไรก็ตาม ชาวนาทั้ง 5 คนยังคงยืนหยัดจะอยู่บนที่ดินของพวกเขาต่อไป