อีอีซีดัน “นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้” จ.ฉะเชิงเทรา เข้า “เขตส่งเสริมพิเศษ” ให้สิทธิประโยชน์เว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 1-15 ปี สิทธิดึงคนต่างด้าว ยื่นขอรับ EEC Visa และ EEC Work Permit พร้อมเงื่อนไขอื่นตามเจรจา มั่นใจปั๊มยอดลงทุน-จ้างงานพุ่ง ซีอีโอ EA สานต่ออนาคต “นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคแรกในประเทศไทย”
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้ ทางอีอีซีเตรียมเสนอให้ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ (BlueTech City) ให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาด 1,181 ไร่
โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง
โดยจะรองรับการลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากอีอีซี เงื่อนไขสำคัญคือต้องประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่นเดียวกับเขตส่งเสริมพิเศษ 37 เขตที่เคยได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงเขตล่าสุดคือ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้
ซึ่งจะได้ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลตั้งแต่ 1-15 ปี สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร และการยื่นขอรับ EEC Visa และ EEC Work Permit เป็นต้น โดยจะได้รับการพิจารณาตามการเจรจา และเงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนจากการจ้างงานคนไทย และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และยังมีการพิจารณาให้เพิ่มหากมีการเข้าไปช่วยชาวบ้าน ลงทุนช่วยชุมชนในพื้นที่ หรือลงทุนที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง
ทั้งนี้ เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง คือ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล Digital Park (EECd) เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Innovation Platform (EECi) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน High-Soeed Rail Ribbon Sprawl (EECh) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) Medical Hub (EECmd) การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) Gnomics Thailand (EECg) และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง (EECtp)
ส่วนเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม คือ นิคมอุตสาหกรรมของเอกชน 28 แห่ง ส่วนเขตส่งเสริมเศรษกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน (Cluster) 2 แห่ง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต บ้านโพธิ์ และกลุ่มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บางปะกง
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ (BlueTech City) นั้น เป็นการดำเนินการตามสิ่งที่ตั้งใจตั้งแต่แรก คือจะเป็นนิคมที่เหมาะกับอุตสาหกรรมไฮเทคที่แรกในประเทศให้ได้
โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง
สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ หลังจากผ่านบอร์ดคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขยาย คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จใน 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด พื้นที่โครงการอยู่ในตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ประมาณ 1,181 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ 4,856 ล้านบาท
ซึ่งพื้นที่โครงการอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประมาณ 44 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 60 กิโลเมตร และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 119 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี
โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ แบ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจการประมาณร้อยละ 70 และเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวรวมประมาณร้อยละ 30
โดยได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการการจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพ ก่อนนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ภายในโครงการ
นอกจากนี้ โครงการมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูง เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่อีอีซี ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดภายใต้มาตรการส่งเสริมของอีอีซี ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
โดยมีการคาดการณ์ว่า เมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะสามารถรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและสมัยใหม่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง รวมถึงกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 8,300 คน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นิคมบลูเทคเข้าเขตส่งเสริม “อีอีซี” EA มุ่งดึงอุตสาหกรรมไฮเทค “ลงทุนไทย”
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– เว็บไซต์ : https://www.prachachat.net