ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นแรงสุดในรอบสัปดาห์ รับความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง ‘ประธานาธิบดีอิหร่านเสียชีวิต – กษัตริย์ซาอุฯ ประชวร’ ดันราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นในตลาดเอเชียวันนี้ พร้อมจับตาทิศทางประชุมโอเปก 1 มิ.ย.67
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นในการซื้อขายที่ตลาดเอเชียวันนี้ (20 พ.ค.67) รับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกลางทั้งในอิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวขึ้น 0.5% ไปแตะ 84.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในการซื้อขายช่วงบ่าย แต่ระหว่างการซื้อก่อนหน้านี้พุ่งขึ้นไปแตะ 84.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.67
ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 80.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ระหว่างการซื้อขาย ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.67
ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาจากความกังวลในตะวันออกกลาง หลังจากประธานาธิบดี อิบราฮิม รออีซี ของอิหร่าน ถึงแก่อสัญกรรมจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่ภูเขาใกล้พรมแดนอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้คนที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ฮอสเซน อามีร์ อับดุลลาห์ยาน
นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลเรื่องอาการประชวรของกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด แห่งซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ประกาศเลื่อนการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันนี้ เนื่องจากอาการประชวรของพระบิดา โดยภายหลังมีรายงานว่าจะทรงเข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบที่พระราชวังอัล ซาลัมในเมืองเจดดาห์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
โทนี ไซคามอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทไอจี มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า หากอาการประชวรของกษัตริย์ซาอุฯ แย่ลง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางยิ่งมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอีก โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI อาจขึ้นไปแตะระดับ 83.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือสูงค่าเฉลี่ย 200 วันซึ่งอยู่ที่ 80.02 ดอลลาร์
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นราว 1% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการปิดบวกรอบสัปดาห์ครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ และน้ำมันดิบ WTI ปิดบวก 2% จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่
อย่างไรก็ตาม วอร์เรน แพทเทอร์สัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของไอเอ็นจี มองว่าราคาน้ำมันน่าจะไม่เคลื่อนไหวมากนัก จนกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่และพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีการผลิตสำรองในปริมาณมากอยู่
ขณะที่ซาอุล คาโวนิค นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากบริษัทเอ็มเอสที มาร์คี ระบุว่า ตลาดและอุตสาหกรรมพลังงานต่างคุ้นกับการที่มกุฎราชกุมารบินซัลมานทรงมีบทบาทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าซาอุดีฯ จะยังคงนโยบายด้านพลังงานเหมือนเดิมต่อไป