คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง – ทิศทาง แนวโน้ม หลัง #ม็อบ20มีนาคม เดินหน้า ถอยหลัง
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง – มาตรการและความเข้มในการจัดการกับ #ม็อบ20มีนาคม มิได้ปะทุขึ้นเป็นหนแรก
ขอให้ย้อนกลับไปยังเดือนตุลาคม 2563 เมื่อ “คณะราษฎร 2563”เคลื่อนพลยาวเหยียดจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
ก็จะเข้าใจและแทงทะลุ
ครั้งนั้น รัฐบาลเริ่มมาตรการ “สลาย”การชุมนุมเป็นครั้งแรกในเช้าตรู่ของวันที่ 15 ตุลาคมและตามมาด้วยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
และตามมาด้วยการสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 16 ตุลาคม
ความเข้มใน #ม็อบ16ตุลาคม เป็นอย่างไร ใน #ม็อบ20มีนาคม มีความเฉียบขาดยิ่งกว่า
สถานการณ์ #ม็อบ16ตุลาคม อาจเป็นในพื้นที่สยามสแควร์ แยกปทุมวัน ที่หนักอย่างที่สุดคือการ ฉีดน้ำเข้าใส่เพื่อสลายสร้างความตื่นตระหนกอย่างใหญ่หลวง
นั่นคือประสบการณ์แรกของ “ผู้ชุมนุม”
ผลก็คือผู้ชุมนุมเกิดความเคียดแค้นและนำไปสู่การระดมมวลชนเข้าร่วมอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นที่ 5 แยกลาดพร้าว แยกเกษตรบางเขน
แต่ความเฉียบขาดจาก #ม็อบ20มีนาคม รุนแรงยิ่งกว่า
ภาพอันปรากฏผ่านสถานการณ์ #ม็อบ20มีนาคม กึกก้องด้วยเสียงกระสุน “ยาง”
การกระหน่ำด้วยกระบอง และการรุมกระทืบในลักษณะสหบาทาเห็นได้เหมือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นบนสะพานวันชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่หัวถนนสนามหลวง
เท่ากับเป็นการชดเชยและสนองต่ออารมณ์ลึกๆ
มาตรการเข้มอันสัมผัสได้ตั้งแต่หัวค่ำกระทั่งใกล้ 24.00 น.ของ #ม็อบ20มีนาคม เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณไปยังการเกิดขึ้นของม็อบในกาลข้างหน้า
นี่คือสัญญาณ “เข้ม” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า ทิศทางและแนวโน้มของ “ม็อบ”ลำดับต่อไปเป็นอย่างไร
กระนั้น แนวโน้มและความเป็นไปได้สำคัญสามารถวัดและประเมินจากที่พัฒนาจากเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม มายังวันที่ 20 มีนาคมได้เป็นอย่างดี
คำถามอยู่ที่ว่าผลสะเทือนและปฏิกิริยา จะเป็นไปเช่นใด