การเมือง ‘เมียนมา’ เดือด ส่อกระทบการค้า-ลงทุน ชี้แรงงานข้ามชาติเข้าไทยยากขึ้น – THE STANDARD

สถานการณ์การเมืองเมียนมายังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะบานปลายออกไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของเมียนมาเอง แน่นอนว่าไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านย่อมโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ THE มาตรฐาน WEALTH ว่าในระยะสั้น ความไม่แน่นอนของเมียนมาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองจะส่งผลกระทบต่อไทย โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. การค้าข้ามแดนที่ไทยมีการค้ากับ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และจีนตอนใต้อยู่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจเมียนมาได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 อยู่แล้ว ทำให้ปี 2564 ยังเจอผลกระทบต่อการเมืองเพิ่มเติม

2. แรงงานข้ามชาติจากเมียนมาจะเข้าสู่ไทยอาจทำได้ยากกว่าปกติ เพราะสองปัจจัยข้างต้น จึงจะส่งผลต่อธุรกิจที่ใช้แรงงาน

3. มิติการลงทุน อุตสาหกรรมการลงทุนในเมียนมาเป็นลักษณะไม่ซับซ้อน ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงมาก เช่น สิ่งทอ ซึ่งเน้นกำลังแรงงานสูงและต้องการต้นทุนต่ำ ดังนั้นหากย้ายฐานการผลิตจากเมียนมาน่าจะย้ายไปที่เวียดนาม กัมพูชา บังกลาเทศ อินเดีย โดยไทยจะไม่ได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต


ขณะที่ธุรกิจไทยที่ลงทุนในเมียนมาในรูปแบบระยะยาวน่าจะวางแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ ไว้แล้ว จึงไม่กระทบต่อความตั้งใจการลงทุน

“ในระยะสั้นไปจนถึงสิ้นปี 2564 สถานการณ์เมียนมายังคาดเดาได้ยาก คนต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากสถานการณ์การเมืองเมียนมาที่เกิดความเสียหายและน่าเป็นห่วง เริ่มเห็นข่าวขาดแคลนสินค้า ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานหยุดชะงักกระทบกำลังซื้อ ซึ่งกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค”

อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE มาตรฐาน WEALTH ว่าไทยไม่ได้มองเมียนมาเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าการเติบโตของเมียนมาทั้งเศรษฐกิจและชนชั้นกลางจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนการเติบโตของไทยและภูมิภาค

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือหากสถานการณ์เมียนมายังลากยาว อาจเห็นการคว่ำบาตรจากทางตะวันตก เช่น สหภาพยุโรป (UN) และสหรัฐฯ ซึ่งอาจมาในรูปแบบการคว่ำบาตรทางการเงิน หรือกรณีการห้ามนำเข้าสินค้าจากเมียนมา เช่น สิ่งทอ ฯลฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบางกลุ่ม และบางอุตสาหกรรมของไทยที่มีความเกี่ยวเนี่องในการส่งวัตถุดิบและเครื่องจักรให้เมียนมา แต่ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปเมียนมายังไม่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม การเมืองที่ไม่แน่นอนของเมียนมาส่งผลให้หลายฝ่ายมองว่า GDP เมียนมาจะโตลดลงจาก 6% เหลือ 2% ในปี 2564 และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/64 ขณะที่ผลกระทบในระยะสั้นจะเห็นในสองด้าน ได้แก่

1. การส่งออกไทยไปเมียนมาส่วนใหญ่คือสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ฯลฯ อาจจะได้รับผลกระทบ

2. การลงทุนทางตรง (FDI) ต่างชาติ ซึ่งมีโอกาสจะเห็นการย้ายฐานการผลิตจากเมียนมาออกนอกประเทศ เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยส่วนใหญ่คือสิ่งทอ ซึ่งอาจจะย้ายไปยังกัมพูชา เวียดนาม

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์