วันพฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 21.53 น.
‘อ.อานนท์’เล็คเชอร์ที่มา‘ม.112’ เบิกเนตรคนบางกลุ่ม ชี้ฟ้องกลั่นแกล้งทำไม่ได้ง่ายๆ
23 พ.ย. 2566 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในรายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ซึ่งมี นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นพิธีกร ในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าเป็นปัญหาแล้วพยายามเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก ว่า ที่มีความข้าใจกันว่า ป.อาญา มาตรา 112 เป็น “Lese Majeste Law (เลสเซ มาเจสเต ลอว์)” นั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่เป็นความจริง
โดยคำว่า “Lese Majeste (เลสเซ มาเจสเต)” ในภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “To do wrong to the king (ทู ดู รอง ทู เดอะ คิง)” หรือในภาษาไทยคือ “ความผิดต่อพระเจ้าแผ่นดิน” หมายถึงทำผิดอะไรต่อพระเจ้าแผ่นดินแม้เพียงเล็กน้อยก็โดนลงโทษใหญ่โต ซึ่งที่มาของ ป.อาญา มาตรา 112 ต้องย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไทยหรือสยามในขณะนั้นมีปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ชาวต่างชาติทำผิดให้ขึ้นศาลต่างชาติไม่ใช่ศาลไทยเนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยมองว่า “กฎหมายตราสามดวง” ที่ไทยใช้อยู่นั้นโหดร้ายไม่เป็นไปตามหลักสากล
“กฎหมายตราสามดวงเป็น Lese Majeste Law จริง คือเอามะพร้าวห้าวยัดปาก เอาใส่ตะพุ่นหญ้าช้างก็คือให้ช้างเตะ ริบเรือน ริบราชบาตรแล้วก็ประหารกุดหัว สมัยก่อนถ้ามีปัญหากับพระเจ้าแผ่นดินก็ให้ทำโทษอย่างนี้ ซึ่งกฎหมายตราสามดวงเขียนไว้แล้วต่างชาติไม่ยอมรับ รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้นายโรลัง ยัคมินส์ (Rolin-Jacquemyns) เป็นชาวเบลเยียม เขียนประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย แล้วก็เขียนมาตรา 112 ไว้ในประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่นั้น แก้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นร้อยกว่าปี เพื่อแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว
ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวต่อไปว่า หลักของ ป.อาญา มาตรา 112 มีเพียง 3 ข้อ 1.ทำให้เสียชื่อเสียง ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Defamation (ดีเฟมเมชัน) 2.ดูหมิ่น ภาษาอังกฤษคือ Insultation (อินเซาล์เทชัน) และ 3.ข่มขู่อาฆาตมาดร้าย ซึ่งในกรณีคนธรรมดาใครมาทำแบบนี้ก็สามารถฟ้องได้ จึงไม่ใช่ Lese Majeste Law แต่ยังเป็นกฎหมายความมั่นคงเพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นองค์รัฐถาธิปัตย์ เป็นความมั่นคงของชาติ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงฟ้องเองไม่ได้จึงให้คนอื่นฟ้องแทนได้
ส่วนกรณีมาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี นั่นเป็นการเขียนรวมมาตรา แต่ในความเป็นจริงมีสิ่งที่เรียกว่า “ยี่ต๊อก” หมายถึงแนวทางของศาลที่จำกำหนดโทษ เช่น 3 ปี สำหรับการทำให้เสียชื่อเสียง 5 ปี สำหรับดูหมิ่น 7 ปี สำหรับข่มขู่อาฆาตมาดร้าย เป็นต้น ส่วนโทษสูงสุด 15 ปี ไม่มีการกำหนดไว้ เว้นแต่เป็นกรณีทำผิดซ้ำซากจริงๆ เท่านั้น ส่วนข้อเสนอแนะที่บอกว่า อยากให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเสรี จริงๆ การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การทำให้เสียชื่อเสียง ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย และไม่ใช้ถ้ยคำหยาบคาย
“ปลุกกระแสกันขึ้นมาให้ต่อต้าน 112 จะให้ยกเลิกกันให้ได้ จริงๆ ผมมองว่าเป็นการด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์หมดความศักดืสิทธิ์แล้วคนไม่เคารพนับถือ ซึ่งจริงๆ แม่บทของมาตรา 112 คือมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ บอกว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะที่เคารพสักการะสูงสุดผู้ใดจะละเมิดมิได้ ก็คือต้องการจะละเมิด แต่ถ้าคนที่ไม่ต้องการจะละเมิด ไม่ต้องการไปดูหมิ่น ไปอาฆาตมาดร้าย ไปทำให้เสียชื่อเสียง หมิ่นประมาท ก็ไมได้เดือดร้อนอะไร” ผศ.ดร.อานนท์ ระบุ
ผศ.ดร.อานนท์ ยังกล่าวอีกว่า คนที่อ้างว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบ้าง เสรีภาพทางวิชาการบ้าง แต่หากไปดูรัฐธรรมนูญจะเขียนว่าเสรีภาพเหล่านี้ 1.ต้องไม่ผิดกฎหมาย 2.ต้องไม่เป็นภัยความมั่นคง 3.ต้องไม่ขัดศีลธรรมอันดี 4.ต้องไม่ละเมิดผู้อื่น แต่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ผิดทั้งกฎหมาย เป็นภัยควมมั่นคง ขัดประเพณีไทยและยังละเมิดต่อผู้อื่น จึงไม่ใช่เรื่องเสรีภาพ หรือเป็นเสรีภาพที่เลยเถิดไปทับสิทธิคนอื่น
ส่วนประเด็นการนำมาตรา 112 ไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง เรื่องนี้ก็มีอยู่จริง แต่ต้องดูที่เจตนา อย่างตนไปขึ้นศาลก็ต้องทวนถ้อยคำที่หมิ่นอยู่ตลอด แต่ตนก็ไม่ผิดเพราะเจตนาที่กล่าวถ้อยคำนั้นคือปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเอาเข้าจริงการจะฟ้องมาตรา 112 ก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคณะกรรมการคดีความมั่นคง โดยหากมีผู้ฟ้องมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ประจำสถานีก็ต้องสรุปสำนวนส่งมาให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาว่าจะรับไว้เป็นคดีหรือไม่
โดยคณะกรรมการคดีความมั่นคง จะกำกับดูแลโดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ดูแลงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจทั่วไปจะไม่สามารถทำคดีได้จนกว่าคณะกรรมการนี้จะอนุมัติ นอกจากนั้น เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนการสอบสวนในชั้นตำรวจแล้วเสร็จ ก่อนนำสำนวนไปส่งอัยการยังต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนี้อีกครั้งว่าจะส่งต่อในชั้นอัยการหรือไม่ การกลั่นแกล้งจึงไม่ได้ทำกันง่ายๆ
“ผมมีประสบการณ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนชอบเรียกผมไปเป็นพยาน คือบางคดี จำนวนเยอะเลยทีเดียวที่พนักงานสอบสวนเอามาให้ผมดูแล้วผมคิดว่ายังไม่เข้าข่าย 112 ผมก็ให้ความเห็นไปว่าไม่ควรฟ้อง แล้วพนักงานสอบสวนก็บอกว่าเข้า ผมก็ยืนยันว่าไม่เข้า สุดท้ายเขาก็เอาความเห็นผมไปยืนยันกับคณะกรรมการกลั่นกรองความมั่นคงว่ามันไม่เข้า ก็ไม่เป็นคดี มีคดีจำนวนมากที่ไม่เป็นคดีแล้วก็หายไป ซึ่งก็มีคนแจ้งเยอะแต่ไม่เป็นคดีเยอะ ถ้าหมิ่นจริงผมก็พูดตามข้อเท็จจริงทั้งหมด ผมไม่ได้เลือกว่าข้างไหน ดูที่เนื้อหา” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ZuEJD2xa26o