กกท.กระจายศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ บิ๊กก้องยันเป้าหมายซีเกมส์เจ้าทองกีฬาสากล
“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า กกท.กำลังเดินหน้ากระจายศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ออกไปให้มากที่สุด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬาในแต่ละจังหวัด ที่ไม่ต้องเดินทางเข้าสู่ส่วนกลางโดยไม่จำเป็น พร้อมกันนี้ ยังจะมีการกระจายศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ไปยังภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ National Training Center (NTC) ครั้งที่ 1/2565 ครั้งล่าสุด ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องการพิจารณาศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติในส่วนภูมิภาค เพิ่มเติม 5 ศูนย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ประกอบด้วย สนามกีฬาจังหวัดนครพนม, สนามกีฬาจังหวัดสกลนคร, สนามกีฬาจังหวัดมหาสารคาม, สนามกีฬาจังหวัดอุดรธานี และสนามกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีการพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของ กกท. 5 ศูนย์ใหม่ ให้ได้มาตรฐานตามที่ กกท. กำหนด เพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัด สคร. ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการเก็บตัวฝึกซ้อมแข่งขันในรูปแบบศูนย์ฝึกกีฬา (NTC)
กกท.ได้มีการวางมาตรฐานการเก็บตัวฝึกซ้อมแข่งขันในรูปแบบศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ National Training Center (NTC) ระดับภาคและระดับจังหวัด เพื่อใช้วัดผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ประกอบด้วย มาตรฐานการเก็บตัวฝึกซ้อมแข่งขันในรูปแบบศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ National Training Center (NTC) ระดับภาค และมาตรฐานการเก็บตัวฝึกซ้อมแข่งขันในรูปแบบศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ National Training Center (NTC) ระดับจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสนามกีฬาระดับภาค และสนามกีฬาระดับจังหวัด
นอกจากนี้ กกท.ยังได้เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือการเก็บตัวฝึกซ้อมแข่งขันให้ได้มาตรฐานตามรูปแบบ ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ National Training Center (NTC) ในการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง กกท. กับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย 7 สมาคม 10 ชนิดกีฬา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัด สคร. ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการเก็บตัวฝึกซ้อมแข่งขันในรูปแบบศูนย์ฝึกกีฬา (NTC)
โดย กกท. จะให้การสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ การจัดเตรียมสถานที่ฝึกซ้อม อุปกรณ์การฝึกซ้อมและสถานที่พัก ที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนให้การสนับสนุนห้องฝึกกล้ามเนื้อ ห้องสันทนาการ ห้องอาหาร และให้การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ประกอบด้วย ด้านสรีรวิทยา ชีวกลศาสตร์ จิตวิทยาการกีฬา โภชนาการ เวชศาสตร์การกีฬา กายภาพบำบัด การตรวจสารต้องห้าม และการทดสอบสมรรถภาพทางกาย โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญการเฉพาะสาขา เป็นต้น
ส่วนการเตรียมนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 12-23 พฤษภาคมนี้ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเจ้าภาพ จัดการชิงชัยแบบระบบปิด และมีการกระจายจัดการแข่งขันถึง 12 เมือง โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้มีการปรับลดจำนวนของนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันลง และที่ประชุมระหว่าง กกท. และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ รวมถึงสมาคมกีฬา ได้พิจารณาร่วมกัน เห็นชอบให้ปรับลดจำนวนของนักกีฬาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้
โดยให้ปรับจำนวนนักกีฬาเหลือเพียงนักกีฬากลุ่มเป้าหมายเหรียญรางวัล 832 คน จาก 40 ชนิดกีฬา จากเดิม 1,050 คน โดยมีการเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมนักกีฬาให้พร้อมสำหรับสู้ศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน ซึ่ง กกท. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยจะมีการประชุมร่วมกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทีมแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้การสนับสนุนนักกีฬาในการแข่งขันครั้งนี้ต่อไป
ดร.ก้องศักด กล่าวว่า แม้จะมีการลดจำนวนนักกีฬาในซีเกมส์จากหลักพันคน เหลือกว่า 800 คน แต่เป้าหมายการเป็นเจ้าเหรียญทองกีฬาสากลยังคงเดิม เนื่องจากเราส่งนักกีฬากลุ่มเป้าหมายเหรียญทองไปแข่งขันเป็นหลัก ส่วนนักกีฬาที่ถูกตัดออกไปจากซีเกมส์ ก็ยังคงอยู่ในความดูแลของ กกท. และสมาคมกีฬา ซึ่งจะได้มีการเตรียมทีมอย่างต่อเนื่องเพื่อแข่งขันรายการอื่นๆ ต่อไป